“ Pareto’s Principle หรือ กฎ 80/20 คือการลงมือทำสิ่งที่สำคัญ
มากกว่าที่จะลงมือทำสิ่งที่ไม่สำคัญ "
นี่คือคำนิยามอย่างง่ายๆ ของกฎนี้ การที่เราจะพัฒนาคุณภาพไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอง องค์กร หรือทีม สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ บริบท ” หรือสถานการณ์ที่สำคัญ เหตุด่วน เหตุร้าย หรือสิ่งที่เป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ เราต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถพัฒนาคุณภาพได้หมดทุกอย่าง หรือแม้แต่ปัญหา/ความเสี่ยงที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้เราก็ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด เนื่องด้วยกำลังทรัพย์ ทรัพยากร เครื่องมือ และกำลังคนไม่เพียงพอที่จะทำได้ กฎ 80/20 จึงมีเข้ามาช่วยในการจัดลำดับความสำคัญ และกำหนดเป้าหมายเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาต่อไป ตัวอย่างการพัฒนาคุณภาพที่ใช้แนวคิดกฎ 80/20 มาประยุกต์ใช้
@ การกำหนดเข็มมุ่ง (Hoshin Kanri) ในการพัฒนาคุณภาพในองค์กร เช่น ด้วยบริบทเป็นโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพ จึงกำหนดเข็มมุ่งว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาพของกลุ่มโรคเรื้อรัง (DM,HT) เพื่อการพัฒนา
@ การจัดลำดับความรุนแรง/ความถี่ของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพื่อการแก้ไข และกำหนดมาตรการในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ ตามลำดับความสำคัญ
@ การจัดสรรงบประมาณในองค์กรตามลำดับ ตามความสำคัญ และความจำเป็นในการให้บริการ และการพัฒนาในแต่ละปี เป็นต้น
แต่ทว่าอีก 80 ที่เหลือก็มิใช่ว่าเราจะไม่ให้ความสำคัญ ไว้มีแรง มีกำลัง มีทรัพยากรเพียงพอ หรือเป้าหมาย และความเสี่ยงสำคัญได้รับการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขแล้ว ก็ลงมือพัฒนา และปรับปรุงตามลำดับครับ
“ จงใช้ความพยายามเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลง 20% เพื่อให้ 20% นี้ สร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างผลลัพธ์ให้ได้ 80% หรือมากกว่า และเป็นแรงกระเพื่อมให้กับกระบวนการต่อไป ”
Vilfredo Pareto ผู้ให้กำเนิดกฎ 80/20